บทความ
"ปลาข้าวสาร" เป็นชื่อสายพันธ์ปลาที่ไม่มีอยู่จริงในโลก มันคือ "ตัวอ่อน" ของปลากะตัก
กะตักเต็มวัยเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำปลาชั้นเลิศ เป็นอาหารคนและเป็นอาหารให้สัตว์น้ำอื่นๆในห่วงโซ่ชีวิตสัตว์น้ำทะเล
เมื่อเราจับ "ตัวอ่อน" กะตัก มากิน มาใช้ เรายิ่งต้องจ่ายเพื่อซื้ออาหารทะเลอื่นๆ แพงขึ้นเรื่อยๆ สัตว์น้ำต้องการอาหารเพื่อมีชีวิตและเติบโต เมื่อเราตัดวงจรชีวิตเขาเท่ากับเราทำลายตัวเองเพราะนับวันเรายิ่งจะขาดอาหารทะเลดีๆ ไปมากขึ้นๆ
กะตักยังเป็นอาหารของสัตว์ใหญ่อย่าง"วาฬ" ดังนั้นคุณไม่ต้องแปลกใจที่วาฬจะทะยอยหนีหายไปจากทะเลไทย
ทุกวันนี้เรายังซื้อยังขายยังจับ "ตัวอ่อน" ของปลากะตักจำนวนมหาศาล
เราช่วยกันได้ โดยเราเองด้วยการหยุดความนิยมกิน "ตัวอ่อน" ของกะตัก ร้านค้าห้างร้านหยุดจำหน่าย "ตัวอ่อน" กะตัก
และผู้จับก็ควรหยุดจับ ตัวอ่อนกะตัก ไปพร้อมกัน...
ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลไทย ปี2562 ประมาณ1.4ล้านตัน หรือ 1,400,000,000 กก. (ซึ่งรวมน้ำหนักตัวอ่อนอยู่ด้วย)
บทความ : Wichoksak Ronnarongpairee
“ประมงพื้นบ้าน” การนิยามความหมายในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
“ประมงพื้นบ้าน” การนิยามความหมายในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
นิติกร ดาราเย็น[1]
“ประมงพื้นบ้าน” หรือ “ชาวประมงพื้นบ้าน” ในความเข้าใจของผู้คนทั่วไปอาจหมายถึงการทำการประมงโดยใช้เรือขนาดเล็ก ทำการประมงบริเวณใกล้แนวชายฝั่งทะเล การทำประมงในลักษณะดังกล่าวทำให้บางหน่วยงานเลือกใช้คำอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประมงพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็น “ประมงชายฝั่ง” หรือ “ประมงขนาดเล็ก”
เอกสารประกอบเวทีประชาสังคมบนความเคลื่อนไหว CSOs ON THE MOVE ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง การพัฒนาชุมชนประมงพื้นบ้านในมิติใหม่ ของวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ซึ่งได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความหมายของ "ชาวประมงพื้นบ้าน" ไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าบุคคลหรือหน่วยงานใดเริ่มใช้คำว่า "ชาวประมงพื้นบ้าน" เป็นบุคคลหรือหน่วยงานแรก[2]
หากดูความหมายของ "ชาวประมงพื้นบ้าน" หรือ "ประมงพื้นบ้าน" ในกฎหมายที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรประมง พบว่าในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490[3] และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496[4] และ พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่3) พ.ศ. 2528[5] รวมถึงพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ไม่มีการนิยามความหมายของ "ชาวประมงพื้นบ้าน" หรือ "ประมงพื้นบ้าน" มีเพียงแต่การนิยาม "ผู้ประกอบอาชีพประมง" ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558[6] อย่างไรก็ตามคำว่า “ประมงพื้นบ้าน” ได้ถูกนิยามอย่างเป็นทางการในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ในขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามความหมายของ “ประมงพาณิชย์” ซึ่งเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างการทำประมงทั้งสองประเภท[7]
บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความหมายของ “ประมงพื้นบ้าน” ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสร้างนิยามหรือความหมายของประมงพื้นบ้านได้สัมพันธ์กับการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ทรัพยากรทางทะเลของชาวประมงทั้งในแง่ของการกำหนดพื้นที่และเครื่องมือทำการประมง
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กับการนิยาม “ประมงพื้นบ้าน”
การนิยามความหมายของประมงพื้นบ้านในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ได้ปรากฏอยู่ในมาตรา 5 ซึ่งได้ให้ความหมายของประมงพื้นบ้านไว้ว่า "การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ที่ไม่ใช่เป็นประมงพาณิชย์"[8] เห็นได้ว่าประมงพื้นบ้านตามคำนิยามข้ามต้น คือการทำประมงโดยทั้งมีเรือหรือไม่มีเรือ และต้องเป็นการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และไม่ใช่เป็นประมงพาณิชย์
การให้คำนิยามว่าประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งเป็นการกำหนดความหมายของประมงพื้นบ้านที่ไม่ครอบคลุมและแคบเกินไป เพราะความเป็นจริงชาวประมงที่ใช้เรือขนาดเล็กและเครื่องมือประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นประมงพื้นบ้านหลายคนออกทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง (จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ติดทะเลจะพิจารณาพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งว่าจะมีพื้นที่เท่าใดและเป็นบริเวณใด ซึ่งตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 กำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ไมล์และไม่เกิน 12 ไมล์โดยนับจากแนวชายฝั่ง[9]) และการนิยามเช่นนี้เป็นการกำหนดพื้นที่ทำการประมงโดยยึดโยงกับมาตรา 34 ในพระราชกำหนด ฯ[10]
อย่างไรก็ตามคำนิยามของประมงพื้นบ้านในพระราชกำหนดฯ ที่นำเสนอมาข้างต้น ไม่เป็นเพียงการทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งโดยใช้เรือหรือไม่ใช้เรือเท่านั้น แต่กำหนดว่า "มิใช่เป็นประมงพาณิชย์" ดังนั้นหากพิจารณาว่าลักษณะการทำประมงเป็นประมงพื้นบ้านตามคำนิยามของพระราชกำหนด ฯ ต้องคำนึงถึงคำนิยามความหมายของประมงพาณิชย์ โดยในพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ได้นิยาม "ประมงพาณิชย์" ไว้ว่า "การทำประมงที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปหรือใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือใช้เรือประมงโดยมีหรือใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภท วิธี จำนวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทำการประมงตามที่รัฐมนตรีกำหนด..."[11] และหากเป็นประมงพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตจะไม่สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง
ตามคำนิยามของประมงพาณิชย์ที่เกี่ยวโยงไปถึง "ประมงพื้นบ้าน" คือ “ขนาดเรือ” และ “เครื่องมือทำการประมง” ในส่วนขนาดเรือกำหนดว่าการทำประมงที่ใช้เรือขนาดสิบตันกรอสขึ้นเป็นประมงพาณิชย์ ดังนั้นหมายความว่า "หากเป็นประมงพื้นบ้านต้องใช้เรือไม่เกินสิบตันกรอส" แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อยกเว้น ตามมาตรา 174 ของพระราชกำหนด ฯ เพราะเรือที่ขนาดเกินกว่าสิบต้นกรอส แต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนทำการประมงสามารถเป็นประมงพื้นบ้านได้[12]
ในแง่นี้ความหมายของ "ประมงพื้นบ้าน" ตามพระราชกำหนด ฯ คือ การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง และหากใช้เรือประมงต้องมีขนาดไม่ถึงสิบตันกรอส แต่ยกเว้นเรือประมงขนาดและลักษณะตามมาตรา 174 ในพระราชกำหนด ฯ ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ? คำตอบคือเพียงเท่านี้ยังไม่สามารถระบุว่าเป็น "ประมงพื้นบ้าน" เพราะการเป็นประมงพื้นบ้านยังสัมพันธ์กับการใช้เครื่องมือทำการประมง ดังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศ "กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560"[13] เท่ากับว่าถึงแม้จะใช้เรือขนาดเล็กกว่าสิบตันกรอสทำการประมง หรือเกินกว่าสิบตันกรอสแต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสตามมาตรา 174 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 หากใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทของประมงพาณิชย์ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับดังกล่าวจะทำให้กลายเป็นประมงพาณิชย์
เห็นได้ว่าการนิยามความหมายของ "ประมงพื้นบ้าน" ในพระราชกำหนดฯ ค่อนข้างซับซ้อน และมีความสัมพันธ์กับการกำหนดเขตทำการประมงหรือหลักเกณฑ์การใช้ทรัพยากรของชาวประมงอย่างแยกไม่ออก
[1] เจ้าหน้าที่ภาคสนามสมาคมรักษ์ทะเลไทย (องค์กรพัฒนาเอกชน NGOs) ประจำจังหวัดระนองและพังงา
[2] วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี, เอกสารประกอบเวทีประชาสังคมบนความเคลื่นอไหว CSOs ON THE MOVE”, ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน), 6-7 มีนาคม 2562.
[3] พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 64 ตอนที่ 3 (14 มกราคม 2490)
[4] พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2496, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 61 (29 กันยายน 2496)
[5] พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่3) พ.ศ. 2528, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 120 ฉบับพิเศษ 38 (5 กันยายน 2528)
[6] พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558, มาตรา 4, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 34 ก (24 เมษายน 2558): 2.
[7] พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558, มาตรา 5, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 108 ก (13 พฤศจิกายน 2558): 4.
[8] พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558, มาตรา 5, 3.
[9] พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558, มาตรา 5, 3.
[10] มาตรา 34 ในพะราชกำหนดการประมงห้ามผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ดูเพิ่มเติมใน พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนที่ 67 ก (28 มิถุนายน 2560): 4.
[11] พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560, 2.
[12] พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558, มาตรา 174, 50.
[13] ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ.2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 321 ง (26 ธันวาคม 2560)
บรรณานุกรม
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการ ประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ.2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 321 ง (26 ธันวาคม 2560)
พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนที่ 67 ก
(28 มิถุนายน 2560)
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 108 ก (13 พฤศจิกายน 2558)
พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2496, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 61 (29 กันยายน 2496)
พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่3) พ.ศ. 2528, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 120 ฉบับพิเศษ 38
(5 กันยายน 2528)
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558, มาตรา 4, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 34 ก (24 เมษายน 2558)
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 64 ตอนที่ 3 (14 มกราคม 2490)
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี. “เอกสารประกอบเวทีประชาสังคมบนความเคลื่อนไหว CSOs ON THE MOVE.”, ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน), 6-7 มีนาคม 2562.
" หมึก "
หมึก สัตว์ทะเลที่มีลำตัวนุ่มนิ่ม สีขาวใสและจะเปลี่ยนเป็นสีขุ่นในตอนที่เสียชีวิตแล้ว หมึกเป็นอาหารทะเลที่ใครๆ นิยมทานหรือชอบทาน ไม่ว่าจะเป็นเมนู หมึกผัดไข่เค็ม หมึกผัดกระเพา หรือแม้กระทั่งหมึกสดย่าง ทุกเมนูของหมึกถือว่าอร่อยเด็ดเลยทีเดียว แต่บางคนอาจจะไม่ทราบที่มาของหมึกแต่ละพื้นที่ว่าเป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะพามารู้จักกับความเป็นมาของหมึกที่จับโดยชาวประมงพื้นบ้านของทะเลชายฝั่งอันดามันของไทยค่ะ
ชนิดของปลาหมึกที่พบในทะเลฝั่งอันดามันของไทยส่วนใหญ่จะพบ
• หมึกกระดอง (Cuttlefish : ชื่อวิทยาศาสตร์: Sepia brevimana, Sepia pharaonis )
- ลักษณะทั่วไป : มีลำตัวเป็นถุงรูปไข่ มีแผ่นกล้ามเนื้อคลุมลำตัวคือ ครีบ เป็นอวัยวะที่ใช้ในการพยุงตัว ทำให้เคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ลำตัวเป็นกล้ามเนื้อมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อหนาหุ้มห่ออวัยวะภายใน กระดองรูปคล้ายใบหอกที่ เรียกว่า ลิ้นทะเล หัวมีนัยน์ตาขนาดใหญ่ มีหนวดสั้น 4 คู่ และหนวดยาว 1คู่ ปลายของหนวดแต่ละเส้นมีอวัยวะดูดใช้ในการจับอาหาร ถิ่นอาศัย หากินอยู่ในบริเวณผิวน้ำในเวลากลางคืน
• หมึกหอม (Bigfin reef squid, Soft cuttlefish : ชื่อวิทยาศาสตร์: Sepioteuthis lessoniana)
- ลักษณะทั่วไป : มีลำตัวทรงกระบอก ครีบหรือแพนข้างตัวทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะกว้างและแบนยาวเกือบตลอดลำตัวคล้ายหมึกในอันดับหมึกกระดอง กระดองของหมึกหอมจะเป็นแผ่นใส
- หมึกเคลื่อนไหวหรือว่ายน้ำโดยการขยับครีบสองข้างลำตัวให้เป็นคลื่นทำเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่เมื่อตกใจหรือหนีศัตรูมันจะว่ายน้ำถอยหลัง โดยการพ่นน้ำออกทางรูเล็ก ๆ ที่หัว น้ำที่พ่นออกมาจะทำให้ตัวหมึกเคลื่อนที่ถอยหลังเหมือนลูกโป่งที่โดนปล่อยลมออกมา ทำให้การออกแบบเครื่องมือในการจับมีลักษณะแตกต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่นนั้นก็ลอบหมึก ที่มีลักษณะการวางลอบแตกต่างจากการวางลอบปลา คือ การหันงาของลอบขึ้นทางด้านบนหรือมีแนวตั้งเฉียงๆกับผิวน้ำและใช้ถุงพลาสติกสีขาวนำมาตัดเป็นเส้นมัดเป็นพวงๆและนำมามัดติดที่ปากลอบเพื่อเป็นการล่อให้หมึกเข้าลอบ
โดยส่วนใหญ่การจับหมึกของชาวประมงฝั่งอันดามันจะมีทั้งแบบใช้ลอบและแบบใช้เบ็ดตก ซึ่งลอบหมึกที่ใช้ในการจับหมึกจะมีลักษณะ เป็นทรงกระบอกครึ่งซีกทำมาจากไม้ ทำการประมงได้ตลอดทั้งโดยสูงสุดในเดือนตุลาคมและต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ สัดส่วนของชนิดหมึกที่ทำการประมงโดยการใช้ลอบพบหมึกหอมมากกว่าหมึกกระดอง ในปัจจุบันการใช้ลอบในการจับหมึกในฝั่งทะเลอันดามันอาจมีมีน้อยลงเนื่องจาก มีต้นทุนที่แพงบวกกับวิถีชีวิตในการทำประมงแบบอื่นที่เข้ามาด้วย
ดิฉันมีโอกาสได้ลงพื้นที่ ชุมชนเขาปิหลาย ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้เห็นวิถีของชาวประมงในการออกหาปลาและหมึกโดยการใช้วิธีแบบตกด้วยเบ็ด
‘บังเฉ็ม’ชาวประมงบ้านเขาปิหลาย เล่าว่าเมื่อก่อนตนหาหมึกโดยการใช้ลอบเหมือนกัน แต่หลังๆ มาต้นทุนในการทำลอบแพง และการวางลอบได้เฉพาะฤดูกาลที่มีหมึกมากๆ ช่วง เดือนตุลาคม-พฤษภาคม ในช่วงเดือนอื่นไม่คุ้มกับการออกไปวางลอบหมึก จึงหันมาใช้วิธีการตกด้วยเบ็ดแทน
- วิธีการตกหมึกของบังเฉ็ม จะใช้กุ้งปลอมในการล่อหมึก บังบอกว่าการตกหมึกด้วยเบ็ด สามารถตกหมึกได้ทั้งปี โดยที่ไม่ตกกังวลเรื่องฤดูของหมึก บังเฉ็มสามารถตกหมึกได้เยอะสุดอยู่ที่ ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อคน และเรือหนึ่งลำออกไปตกหมึกประมาณ 3-4 คน เลยทำให้ได้หมึกพอๆกับการวางลอบหนึ่งครั้ง และสามารถวางอวนลอยจับปลาไปด้วยระหว่างการตกหมึก ทำให้ได้ทั้งปลาและหมึกในเวลาเดียวกัน ดีกว่าการวางลอบอย่างเดียว ส่วนการวางลอบ จะมีจุดอ่อนอีกอย่างในประสบการณ์
‘บังเฉ็ม’ คือ มีปัญหากับวางอวนลอย เพราะอวนจะไปติดกับลอบที่วางไว้ จนต้องตัดอวนทิ้ง นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บังเฉ็มเลิกการหาหมึกด้วยการใช้ลอบ
#วิธีการหาหมึกของชาวประมงพื้นบ้าน สะท้อนให้เราเห็นว่า ต้องใช้ความรู้เฉพาะ ต้องมีประสบการณ์ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย
บทความโดย : รัตติกาล ชาญปราณีต
"บทสำรวจการจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง"
เครื่องมือที่ชาวประมงใช้ทำการประมงในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะ รูปแบบ และประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มไอย่างกว้างๆ ได้ 2 ประเภท คือ (1) เครื่องมือประสิทธิภาพต่ำ และ (2) เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง
ตามประกาศกรมประมง เรื่องแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์… ได้กำหนดเครื่องมือทำการประมงบางชนิด เช่น อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ ฯลฯ เป็นเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวนมากภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และมีลักษณะมุ่งจับสัตว์น้ำแบบเหมารวม ทำให้การจับสัตว์น้ำโดยเครื่องมือเหล่านี้จะได้ทั้งสัตว์น้ำที่โตเต็มตัว และ “สัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กหลายชนิด” ซึ่งหมายถึง สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ และหากปล่อยให้เติบโตจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
บทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะนำผู้อ่านไปสำรวจการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมืออวนลากคู่ และอวนลากแผนตะเฆ่ ผ่านงานศึกษาจำนวน 2 เรื่อง คือ (1) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำหลังการจับของเรืออวนลากคู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ของ รัตนาวลี พูลสวัสดิ์ (2560) และ (2) สภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยและฝั่งอันดามันจากเรืออวนลากพาณิชย์ ของ อำนวย คงพรม และคณะ (2550) ซึ่งงานศึกษาทั้งสองเรื่องได้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง คือเรือประมงพาณิชย์ที่ทำการประมงในพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทย
งานของ รัตนาวลี ได้ศึกษาอัตราการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากคู่ที่ทำการประมงบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยเก็บข้อมูลจากเรือประมงที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจำนวน 1,318 คู่ พบว่ามีอัตราการจับสัตว์น้ำ 120.30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ส่วนสัตว์น้ำที่จับได้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจร้อยละ 25.78 และเป็นปลาเป็ดมากถึงร้อยละ 74.22 ทว่าในจำนวนปลาเป็ดทั้งหมด มีปลาเป็ดแท้เพียงร้อยละ 18.77 เท่านั้น ที่เหลือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กร้อยละ 81.23 ซึ่งมีทั้งปลาหน้าดิน (ปลาปากคม ปลาทรายแดง) ปลาผิวน้ำ (ปลากะตัก ปลาข้างเหลือง ปลาทู) กลุ่มหมึก รวมถึงกลุ่มสัตว์น้ำประเภทหอย
ในส่วน อำนวย และคณะ ได้ศึกษาองค์ประกอบของสัตว์น้ำที่จับได้จากเรือประมงที่ใช้เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ขนาดความยาวต่ำกว่า 14 เมตร และระหว่าง 14-18 เมตร และได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 พื้นที่ คือทางฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างผลการศึกษาการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ขนาด 14-18 พบว่าทางฝั่งอ่าวไทยมีอัตราการจับสัตว์น้ำ 35.431 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สัตว์น้ำที่จับได้ประกอบไปด้วยสัตว์น้ำเศรษฐกิจร้อยละ 50.92 และปลาเป็ดร้อยละ 49.08 ในจำนวนปลาเป็ด พบว่ามีปลาเป็ดแท้ร้อยละ 69.35 และสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กร้อยละ 30.65 ส่วนทางฝั่งอันดามันมีอัตราการจับสัตว์น้ำ 57.625 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งประกอบไปด้วยสัตว์น้ำเศรษฐกิจร้อยละ 41.47 และปลาเป็ดร้อยละ 58.53 ในจำนวนปลาเป็ด มีปลาเป็ดแท้เพียง 39.78 และมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจร้อยละ 60.22
งานศึกษาทั้งสองชิ้นชี้ให้เห็นว่าการจับสัตว์น้ำของเรือประมงที่ใช้อวนลากคู่และอวนลากแผ่นตะเฆ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือทำการประมง “ที่มีประสิทธิภาพสูง” ส่วนหนึ่งจับสัตว์น้ำที่ยังไม่ถึงขนาดแทนที่หรือวัยเจริญพันธุ์ค่อนข้างมาก เห็นได้ชัดจากกรณีศึกษาอวนลากคู่ ในงานของ รัตนาวลี ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กมากน้อยเพียงใด เพราะลำพังการกำหนดวันทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์ หรือการปิดอ่าวในบางช่วงเวลาอาจไม่เพียงพอต่อการทำให้สภาวะ “ทำประมงเกินกำลังการผลิตของสัตว์น้ำ” หรือ Over Fishing หมดไป เอกสารประกอบการเรียบเรียง
-การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำหลังการจับของเรืออวนลากคู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน รัตนาวลี พูลสวัสดิ์ (2560)
-สภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยและฝั่งอันดามันจากเรืออวนลากพาณิชย์ อำนวย คงพรม และคณะ (2550)
-ประกาศกรมประมง เรื่อง แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง พ.ศ.2561-2562 พ.ศ.2561
เขียนโดย เต็งหนึ่ง
" กั้งตั๊กแตน "
"กั้งตั๊กแตน"
ชื่อชื่ออังกฤษ : Mantis shrimps
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Odontodactylus cultrifer, Erugosquilla woodmasoni
และ Harpiosquilla harpax (ตามลำดับภาพ)
เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหาร หลากหลายเมนู เนื้อกั้งตั๊กแตนมีรสชาติอร่อย ทำให้ได้รับความนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารมากขึ้น รวมทั้งมีผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนจากการรับประทานเนื้อกุ้ง เป็นรับประทานกั้งตั๊กแตนที่มีไข่แก่เต็มช่องท้อง
ดังนั้น กั้งตั๊กแตน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยบางพื้นที่กั้งจะมี ราคาสูง ถึง 1,000 บาท ต่อกิโลกรัม กั้งตั๊กแตนอยู่ในกลุ่มเดียวกับกุ้งและปู อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthroproda) จัดอยู่ ในSubphylum crustaceans มีชื่อเรียกทั่วไปว่า mantis shrimp มีทั้งหมดทั่วโลกประมาณ 300 ชนิด (อิสราภรณ์ จิตรหลัง, 2558) มีขนาดเล็กถึงปานกลาง (ความยาวเฉลี่ย 15 เซนติเมตร) แต่มีลักษณะโบราณกว่า โดยมีลักษณะเฉพาะคือ มีรยางค์อก 5 คู่แรกเป็นรยางค์ที่มีชื่อเรียกว่า maxilliped คู่ที่ 2 ที่พัฒนาดีและมีขนาดใหญ่กว่าคู่อื่น เรียกเฉพาะว่า raptorial claw หรือก้ามฉก ใช้ในการจับเหยื่อ รยางค์คู่นี้มีลักษณะคล้ายกับรยางค์ในการล่าเหยื่อของตั๊กแตน จึงเป็นที่มาของชื่อ “กั้งตั๊กแตน” (นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร, 2550)
กั้งตัวเต็มวัยจะมีรูปร่างที่สมบูรณ์ชัดเจน คือ ลำตัวจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีกระดองปกคลุมไปทั้งลำตัว มุมด้านหน้ามีลักษณะแหลม เรียกว่าแผ่นกรี กั้งตั๊กแตนตัวเมีย จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ กั้งตั๊กแตนตัวเมียจะมีไข่สีเหลืองส้ม ที่เรารู้จักกันในกั้งไข่นั่นเอง
นอกจากกั้งตั๊กแตนที่เราพบเห็นตามท้องตลาดทั่วไปแล้ว ยังมีกั้งตั๊กแตนชนิดอื่นๆที่สามารถพบได้ในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็น กั้งตั๊กแตนสามแถบ กั้งตั๊กแตนหางม่วง กั้งตั๊กแตนหางฟ้า และกั้งตั๊กแตนสยาม
เรื่องโดย : Aphinya Saenghirun
"ปลากระโทง "
"ปลากระโทง " หรือเป็นที่นิยมรู้จักกันในชื่อว่า "ปลาใบ" ของชาวประมงหรือชาวบ้านทั่วไป ปลาใบมีลักษณะสามารถกระโดดพ้นน้ำได้สูงและมีความสง่างาม จึงได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งท้องทะเล ปลากระโทงหรือปลาใบ จะมีเนื้อที่เยอะและกระดูกน้อย ทำให้สามารถแล่ออกมาเป็นชิ้นๆเหมาะแก่การทำเป็นปลาหวาน ปลาเค็มทอดทานร้อนๆ หรือ
สามารถนำไปทำเป็นเมนูต่างๆได้ เช่น แกงเทโพ ใส่ปลาใบชิ้นแทนปลาแห้งได้เลยถือว่าอร่อยไม่แพ้กัน แต่บางคนอาจจะไม่ทราบที่มาของปลากระโทงหรือปลาใบว่าแต่ละพื้นที่ได้มาอย่างไร
วันนี้เราจะพามารู้จักกับการหาปลากระโทงหรือปลาใบโดยชาวประมงพื้นบ้านของทะเลชายฝั่งอันดามันของไทย ค่ะ
ชนิดของปลากระโทงที่พบในทะเลฝั่งอันดามันและฝังอ่าวไทยส่วนใหญ่จะพบ
- ปลากระโทงร่ม (Sailfish : ชื่อวิทยาศาสตร์ : Istiophorus platypterus) ลักษณะทั่วไป : มีรูปร่างยาเรียว ลำตัวแบนข้าง ส่วนของสันหลังมีกล้ามเนื้อหนา หัวค่อนข้างโต ปากกว้าง จะงอยปากเรียวยาวและแหลม มีครีบกระโดงหลังสูงใหญ่เวลาแผ่กว้างจะมีลักษณะคล้ายใบเรือ ซึ่งใหญ่กว่าปลากระโทงชนิดอื่น ๆ ครีบอกมีขนาดเล็ก ครีบท้องเรียวยาวเหมือนแถบริบบิ้น ครีบก้นแยกเป็นสองอันเล็ก ๆ อันที่สองอยู่ตรงข้ามครีบหลังซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน สีของลำตัวด้านหลังเป็นสีน้ำเงินเข้มปนดำข้างตัวสีน้ำเงินอ่อนกว่าด้านหลัง ท้องสีขาวเงินมีลายเป็นเส้นประพาดจากด้านหลังลงไปถึงท้อง ครีบทุกครีบ มีสีดำ มีครีบท้องเป็นเส้นยาวชัดเจน
- ปลากระโทงสีน้ำเงิน (Blue marlin : ชื่อวิทยาศาสตร์ : Makaira nigricans ) ลักษณะทั่วไป : ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ จัดเป็นปลากระโทงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย มีลายสีฟ้าหรือน้ำเงินจางเป็นลายพาดขวางตลอดทั้งลำตัว ด้านหลังมีสีน้ำเงินเข้ม ครีบอกมีความยืดหยุ่นสามารถพับกลับเข้าหาลำตัวได้ มีเส้นข้างลำตัวเป็นวง ครีบหลังตอนหน้าสั้นกว่าความลึกของลำตัว
ปลากระโทงเป็นปลาขนาดใหญ่ที่หากินตั้งแต่กลางน้ำขึ้นไปจนถึงผิวน้ำ และมักอาศัยอยู่ในแนวของกระแสน้ำทะเลเปิด หรือแนวหน้าผาใต้น้ำ ที่ระดับความลึกของน้ำตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปหรือบริเวณตามชายฝั่งที่มีกระแสน้ำอุ่น ซึ่งทางทะเลอันดามันสามารถที่จะพบตัวได้ตั้งแต่จังหวัดระนองไล่ลงไปจนถึงจังหวัดสตูล สำหรับอาหารของมันแล้ว ปลากระโทงมักจะทำการล่าปลาฝูงที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นปลาอีโต้มอญ ปลาทูน่า ปลาอินทรีและปลาหมึกกินเป็นอาหาร จากที่ดิฉันได้พูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะปู จังหวัดกระบี่ ได้ทราบถึงวิถีของชาวประมงในการออกหาปลาโดยการใช้วิธีแบบตกด้วยเบ็ด
บังอาหลี ชาวประมงบนเกาะปู เล่าว่า "ชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะส่วนใหญ่จะทำการประมงโดยการใช้อุปกรณ์คือ เบ็ดตก แต่ก็จะมีคนทำประมงโดยใช้อวนลอยด้วยแต่จะมีน้อย เนื่องจากการทำประมงแบบใช้อวนลอยมีต้นทุนที่สูงและทำการประมงค่อนข้างยากลำบากเพราะมีเรื่องคลื่นลมและความลึกของทะเลมาเกี่ยวข้องด้วย เลยทำให้ส่วนใหญ่จะทำการประมงโดยใช้เบ็ดตกมากกว่า และจะได้ชนิดของสัตว์น้ำที่หลากหลายหนึ่งในนั้นก็คือ ปลาใบ "
วิธีการตกปลาใบ คือ จะใช้วิธีการจอดเรือให้หยุดนิ่งในการตกปลาใบ จะใช้เหยื่อล่อคือปลาทูหรือปลาลังสดตก
โดยจะไม่ให้เหยื่อลงลึกไปจากผิวน้ำเกินไปประมาณครึ่งหนึ่งของความลึกของน้ำในบริเวณที่ตกปลา จะเป็นวิธีการเดียวกันที่ใช้ตกปลาอินทรีย์ แต่ปลากระโทงจะใช้จะงอยปากที่แหลมคมแข็งแรงฟาดเหยื่อให้บอบช้ำแล้วคาบเหยื่อว่ายน้ำไปด้วยความเร็วไม่มากนักประมาณ 30 เมตรแล้วค่อยขยอกเหยื่อลงกระเพาะ ระหว่างที่ปลาหยุดว่ายเราก็ค่อยๆดึงปลาขึ้นมา
แต่จะใช้เวลาประมาณ10-20นาที ถึงจะดึงปลาขึ้นมาไว้บนเรือได้ เพราะด้วยขนาดและน้ำหนักของปลาใบที่มีขนาดตัวใหญ่ เรือแต่ละลำจะได้ปลาใบลำละ 1-2 ตัว ถือว่ามากสุด ช่วงประมาณเดือน กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม จะมีปลาใบมากที่สุด
แต่เดือนอื่นๆก็มีปลาใบติดเบ็ดตลอดเช่นกัน ในการรับซื้อสัตว์น้ำบนเกาะปูคือ ชาวประมงที่หาสัตว์น้ำมาได้ก็จะมีชาวบ้านหรือแม่ค้ารับซื้อไป แต่ถ้าเป็นปลาใบไม่ค่อยมีคนนิยมซื้อเนื่องจากตัวใหญ่ ไม่ค่อยมีใครทำ เลยไม่ค่อยมีใครรับซื้อ แต่ชาวประมงก็จะนำมาขายส่งต่อที่บังอาหลี และบังอาหลีนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวส่งต่อตลาดต่อไปค่ะ
วิธีการหาปลากระโทงหรือปลาใบของชาวประมงพื้นบ้าน สะท้อนให้เราเห็นว่า ต้องใช้ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับปลาโทง ต้องมีประสบการณ์ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย
บทความโดย : รัตติกาล ชาญปราณีต
"วิถีประมงพื้นบ้านรอบๆเกาะหนู เกาะแมว"
ชนิดสัตว์น้ำและการใช้เครื่องมือประมง ออกวางอวนปลาและไซปลาเก๋า ปลาอังจอ ช่วงเวลา17.00 - 18.00 น.
การใช้ประโยชน์จับสัตว์น้ำควบคู่การทำซั้งกอ(บ้านปลา)เขตพื้นที่คุ้มครองสัตว์น้ำฯ บริเวณรัศมีวงกลมรอบเกาะประมาณ 200 เมตร โดยเกาะหนูห่างจากฝั่งออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือในการเดินทางประมาณ 20 นาที และเกาะแมวห่างจากฝั่งออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 30 นาที
เกาะหนู มีลักษณะหันหัวไปทางทิศใต้มีถ้ำด้านทิศตะวันออกและ ถ้ำด้านทิศเหนือที่เป็นส่วนของหางหนูจะมีลักษณะเป็นผาหินแดงสามารถจอดเรือเป็นที่พักผ่อนได้ทั้งด้านหางและทางทิศตะวันตกของเกาะหนู
เกาะแมว หันหัวไปทางทิศตะวันออก ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 30 นาที รอบๆเกาะลักษณะเป็นหินดินดานและมีถ้ำจำนวน 3-4 ถ้ำเป็นที่พักหลบลมฝนของชาวประมงน้ำทะเล
เกาะแมว ความสูงชันน้อยกว่าเกาะหนู รอบๆทั้งเกาะหนู เกาะแมว น้ำใสสะอาดบนเกาะมีต้นไม้หลากหลายชนิดเช่นต้นกำชำ ต้นเตยปาหนัน ต้นไทร เป็นสถานที่หนึ่งที่อยู่ใกล้ๆแต่คนสงขลาจำนวนมากยังไม่ได้มาเที่ยวชม
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เรื่องโดย : จำรัส หวังมณีย์
ตำนานของ "เกาะหนู เกาะแมว"
“มีพ่อค้าชาวจีนเดินเรือสำเภามาค้าขายที่เมืองสงขลา เมื่อเดินทางกลับได้ซื้อหมากับแมวคู่หนึ่งเอาลงเรือไปด้วย ฝ่ายหมากับแมวเมื่อลงไปอยู่ในเรือนานๆ รู้สึกเบื่อและอยากกลับไปสงขลาจึงปรึกษากัน หมาได้บอกกับแมวว่า พ่อค้าเรือสำเภานั้นมีดวงแก้ววิเศษหากใครได้ไว้จะว่ายน้ำไปไหนๆ ได้โดยไม่จม แมวจึงไปข่มขู่หนูให้ขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามาให้ ทั้งหมา แมวและหนูจึงหนีลงเรือมุ่งหน้าไปขึ้นฝั่งที่เมืองสงขลา ขณะว่ายน้ำอยู่นั้น หนูคิดอยากได้ดวงแก้วไว้ครอบครองจึงว่ายน้ำหนีหมากับแมว ฝ่ายแมวซึ่งอยากได้ดวงแก้วไว้ครอบครองเช่นกันก็รีบว่ายน้ำไปหาหนู หนูจึงว่ายน้ำหนีสุดแรงโดยไม่ทันระวังตัว ดวงแก้วจึงหล่นออกจากปากแตกละเอียดกลายเป็นหาดทราย เรียกว่าหาดทรายแก้ว ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนยื่นออกไปในอ่าวสงขลา ฝ่ายหนูกับแมวจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนู เกาะแมว ส่วนหมานั้นสามารถว่ายน้ำมาได้ แต่ขาดใจตายที่ฝั่งกลายเป็นหินเรียกว่าเขาตังกวน”
. ปัจจุบันเกาะหนูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว บนเกาะหนูมีมรดกทางประวัติศาสตร์ คือ ป้อมปืนใหญ่และหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นสีของน้ำทะเลเป็น 2 สี และในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน หากโชคดีนักท่องเที่ยวก็จะได้ชื่นชมปลาโลมาเล่นน้ำบริเวณเกาะด้วย
(ขอขอบคุณ :ข้อมูลเทศบาลนครสงขลา)
. "ระยะทางจากฝั่งไปเกาะหนูและเกาะแมว"
. เกาะหนูห่างจากฝั่งออกไปประมาณ2กิโลเมตรใช้เวลานั่งเรือ20นาที ส่วนเกาะแมวห่างจากฝั่งออกไปประมาณ3กิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือ30นาที เกาะหนูมีลักษณะหันหัวไปทางทิศใต้มีถ้ำด้านทิศตะวันออกและ ถ้ำด้านทิศเหนือที่เป็นส่วนของหางหนูจะมีลักษณะเป็นผาหินแดงสามารถจอดเรือพักได้ภายในถ้ำมีนกนางแอ่น
ส่วนเกาะแมวหันหัวไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นหินดินดานและมีถ้ำจำนวน3-4ถ้ำเป็นที่พักหลบลมฝนของชาวประมง ทั้งเกาะหนูและเกาะแมวไม่มีหาดทรายขาว แต่จะเป็นเม็ดกรวดสีออกแดงๆ การเดินด้วยเท้าเปล่ารอบๆเกาะจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบาก ด้วยรอบๆเกาะมีลักษณะเป็นผาหินที่มีความคมและลาดชัน
เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee
อำนาจและบทบาทของ “คณะกรรมการประมงจังหวัด”
ใน พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558
ปัจจุบันหลักการสำหรับกำหนดนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ จะต้องคำนึงถึงการ “การมีส่วนร่วม” จากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน เอกชน รัฐ ฯลฯ โดยหลักการการมีส่วนร่วมจะนำไปปฏิบัติในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น การรับฟังความคิดเห็น การแต่งตั้งคณะกรรมการจากบุคคลหลายภาคส่วน ฯลฯ
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้แต่ละจังหวัดมี “คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” โดยสัดส่วนของคณะกรรมการชุดนี้จะมีตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัดที่เป็นหัวหน้าอัยการ ฯ พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอในท้องที่ที่มีการประมง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ผู้ว่าราชการแต่งตั้ง โดยกำหนดจำนวนไม่เกินสิบสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดส่วนหนึ่งจะมาจากภาคประชาชนหรือประชาสังคมที่เป็นชาวประมง โดยบุคคลนั้นๆ จะต้องเป็นสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่จดทะเบียนตามมาตร 25 ของพระราชกำหนด ฯ ทั้งที่เป็นองค์กรด้านประมงทะเลชายฝั่ง ประมงทะเลนอกขายฝั่ง ประมงน้ำจืด การเพราะเลี้ยง แปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ
คณะกรรมการประมงจังหวัดของแต่ละจังหวัดมีอำนาจหรือหน้าที่จัดทำข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับอาชีพด้านการประมง การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประมง และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ โดยเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ รัฐมนตรี รวมถึงอธิบดีกรมประมง และนี้ยังมีอำนาจในการออกประกาศ เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบการทำประมง พื้นที่เพาะเลี้ยง และกฎระเบียบอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ (มาตรา 56, มาตรา 71, มาตรา 77 ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558)
นอกจากนี้ยังอำนาจอื่นๆ ที่ได้กำหนดกฎหมายฉบับนี้ เห็นได้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงจังหวัดที่ถูกกำหนดมาข้างต้น จะมีการแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชนที่เป็นชาวประมงร่วมเป็นคณะกรรมการ และยังมีอำนาจหรือหน้าที่ในการเสนอแนวทางนโยบายด้านการประมง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในจังหวัด ในแง่นี้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดได้ดำเนินการตามหลักการ “การมีส่วนร่วม” ที่ให้ผู้คนนอกภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมงของพื้นที่จังหวัดนั้นๆ
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะใช้หลักการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ แต่การกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการ ฯ จะทำให้บุคคลนอกภาครัฐที่เป็นภาคประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายมากน้อยเพียงใด ? หรือเป็นเพียงนโยบายที่เน้นมีการส่วนร่วมแค่ในทางทฤษฎี สิ่งเหล่านี้คงต้องตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่2) พ.ศ.2560
บทความ(ต่อ)โดย:เต็งหนึ่ง
ทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านสำคัญอย่างไร ?
เรือที่ชาวประมงใช้ทำการประมงหรือจับสัตว์น้ำและได้จดทะเบียนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ได้นิยามเรือประเภทดังกล่าวว่า “เรือประมงไทย” อย่างไรก็ดีใจความสำคัญอีกประการหนึ่งของคำนิยามที่เกี่ยวกับเรือประมงในกฎหมายฉบับนี้ คือการนิยาม “เรือไร้สัญชาติ” ซึ่งหมายถึง “เรือที่ไม่จดทะเบียนเรือตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเรือที่มีสองสัญชาติขึ้นไป และรวมถึงเรือที่เปลี่ยนธงระหว่างการเดินเรือ…”
อย่างไรก็ตามได้มีการกำหนดให้ “เรือประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืดที่มีขนาดไม่ถึงสามตันกรอสไม่เป็นเรือไร้สัญชาติ ถึงแม้ไม่ได้นำเรือไปจดทะเบียนสำหรับทำการประมง” ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏอยู่ในประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดขนาดเรือของผู้มีสัญชาติไทยที่ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดที่ไม่ถือเป็นเรือไร้สัญชาติแม้ไม่จดทะเบียนเรือ พ.ศ.2560
ในพระราชกำหนด ฯ ไม่เพียงนิยามความหมายของเรือไร้สัญชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อบังคับ (มาตรา 10) ไม่ให้ชาวประมงนำ “เรือไร้สัญชาติออกทำการประมง” ในแง่นี้เรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดตั้งแต่สามตันกรอสขึ้นไปต้องจดทะเบียนเรือประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย จึงสามารถออกทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามพระราชกำหนดฯ
นอกจากนี้การจดทะเบียนเรือของประมงพื้นบ้านอาจจะส่งผลดีทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพราะทำให้ “รัฐบาล” ทราบจำนวนของเรือประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงในประเทศไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประมงได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด ที่สำคัญจำนวนเรือยังสัมพันธ์กับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เช่น การแบ่งโควตาการจับสัตว์น้ำ (MSY)
หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกคำสั่งที่ 24 / 2558 ของ คสช. ในช่วงปลายปี 2562 ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถนำเรือของตนไปยื่นจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันเรือประมงพื้นบ้านที่ยื่นขอตรวจอัตลักษณ์และจดทะเบียนมีจำนวนประมาณ 52,000 ลำ แต่พบว่ามีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 4,500 ลำ ยังดำเนินการจดทะเบียนเรือไม่เสร็จสิ้น ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับ กรณีที่ชาวประมงยังไม่ส่ง “หนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน” ซึ่งออกโดยกรมประมงให้กับกรมเจ้าท่าเพื่อประกอบกาบจดทะเบียนเรือ โดยเอกสารดังกล่าวขอได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2563 นี้เท่านั้น
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
- พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดขนาดเรือของผู้มีสัญชาติไทยที่ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดที่ไม่ถือเป็นเรือไร้สัญชาติแม้ไม่จดทะเบียนเรือ พ.ศ.2560
- ประกาศกรมประมงเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน (ฉบับที่3) พ.ศ.2563
เขียนโดย เต็งหนึ่ง