top of page

“การจับปลาทู” 

5.png

                                              “การจับปลาทู” ของวิถีประมงพื้นบ้านทะเลนอก
                       
                       หมู่1 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  

         ด้วยบ้านทะเลนอกเป็นพื้นที่หนึ่งที่จับปลาทูกันได้ตลอดปี แต่ปลาทูมีชุกชุมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทำให้อวนปลาทูเป็นเครื่องมือประมงที่มีเกือบทุกลำเรือจากจำนวนเรือทั้งหมดร่วม 100 กว่าลำในชุมชนบ้านทะเลนอก เครื่องมือที่ใช้จับปลาทูเป็นอวนเขียวขนาดตา 4.3 เซนติเมตร อวนหนึ่งผืนมีความยาว 180 เมตร ลึกไม่เกิน 4 เมตร การออกจับปลาทูเรือลำหนึ่งจะใช้อวนประมาณ 10-30 ผืน
         อันวา นิยมเดชา ประมงหนุ่มแห่งบ้านทะเลนอก การจับปลาทูนั้น บอกว่า "จะต้องออกช่วงเวลา 01.30 น.ออกจากฝั่งไปไกลถึง 10-20 ไมล์ทะเล (1ไมล์ประมาณ 1.8 กิโลเมตร) ใช้เวลาแล่นเรือประมาณ 3-4 ชั่วโมง ไปกัน 2-4 คนต่อหนึ่งลำเรือ เมื่อไปถึงกลางทะเลจุดที่มีปลาทูต้องใช้เวลาในการวางอวนลงทะเลร่วม 1 ชั่วโมง อันว่าบอกว่า ถึงตอนนั้นก็ปาเข้าไปเวลา 05.00-06.00 น.เริ่มสว่างแล้ว จมอวนไว้ในทะเลประมาณ ครึ่งชั่วโมง แล้วก็สาวอวนขึ้นจากทะเลใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง กรณีอวนติดปลาไม่มากใช้เวลา 2 ชั่วโมง เมื่อกู้อวนขึ้นจากทะเลเสร็จ ใช้เวลาแล่นเรือเข้าฝั่งประมาณ 3 ชั่วโมง ขากลับเข้าฝั่งจะเร็วกว่าช่วงออกไปวางอวน เพราะเรือประมงส่วนใหญ่ถ้าออกทำประมงไกลฝั่ง เรือหนึ่งลำจะใส่เครื่องยนต์จำนวน 2 เครื่อง ช่วงออกจากฝั่งไปวางอวน จะใช้เครื่องเดียว (ไม่รีบ) แต่ตอนแล่นเข้าฝั่ง(รีบ)จะใช้เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่อง ทำให้ถึงฝั่งเร็วขึ้น (การนัดกับแม่ค้าที่มารับซื้อ หรือชาวประมงต้องนำปลาไปขายเองตามตลาดนัดวันต่อวัน)
        ปลาทูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งผลให้ปลาทูมีราคาดี และรสชาติอร่อยสามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ปลาทูนึ่ง น้ำพริกปลาทู แกงส้มปลาทู ปลาทูทอด หรือปลาทูเค็ม เป็นต้นจึงเป็นที่ต้องการของตลาดและกลุ่มผู้บริโภค ปลาทูมีราคาที่แตกต่างกันไปตามขนาดของปลาทู กล่าวคือ ปลาทูใหญ่ขนาด 7-9 ตัว/กิโลกรัม ราคา 120-160 บาท ปลาทูกลางขนาด 10-14 ตัว/กิโลกรัม ราคา 80-120 บาท อันวาบอกทิ้งท้ายว่า ปลาทูที่จับโดยประมงพื้นบ้านรับรองถึงความสด ความสะอาด และปราศจากการใช้สารเคมีในการรักษาคุณภาพสัตว์น้ำอย่างแน่นอน
                                                                                                        เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

" กุ๊งกิ๊ง"

5.jpg

              มารู้จักกุ๊งกิ๊งเครื่องมือจับหมึกสายของวิถีประมงพื้นบ้านสวนกง ต.บ้านนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา                                  "มูสา" ชาวประมงพื้นบ้านหนุ่มแห่งบ้านสวนกง อธิบายลักษณะของ"กุ๊งกิ๊ง" ว่าทำมาจากเปลือกหอยสังข์ตกแต่ง เจาะรูผูกเชือกเอ็นเป็นราวเส้นหนึ่งยาวประมาณ 800-1,000 เมตร ผูกเปลือกหอยมีความห่างระหว่างเปลือกหอย 1-2 เมตร ราวหนึ่งผูกเปลือกหอยประมาณ 100-150 ลูก ปัจจุบันเพื่อความสะดวก จะนำขวดผลิตภัณฑ์แบรนด์ซุปไก่สกัด หรือขวดยาหอม สามารถนำมาแทนเปลือกหอยสังข์มากขึ้น มูสาบอกอาชีพจับหมึกสายจะออกทะเลเพียงคนเดียว ชุมชนบ้านสวนกงใช้กุ๊งกิ๊งประมาณ15ลำ ใช้โดยเรือไฟเบอร์แล่นออกจากฝั่งเพียง1-3 ไมล์ เพื่อแช่กุ๊งกิ๊งให้ติดพื้นทะเล โดยจะออกไปวางกุ๊งกิ๊งช่วงใดก็ได้แต่ต้องทิ้งไว้1คืน เมื่อถึงช่วงเช้าเวลาประมาณ 6.00-7.00 น.ออกจากฝั่งไปยกกุ๊ง กิ๊งถ้าหมึกสายติดขึ้นมาก็ใช้มือดึงออกมา (ภูมิปัญญาด้วยหมึกสายเมื่อเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยจะเกาะแน่นดึงยากต้องใช้น้ำเกลือฉีดเข้าไปในเปลือกหอยถึงจะดึงออกได้ง่ายขึ้น) จะเข้าถึงฝั่งเวลาประมาณ 10.00น.-11.00 น. หมึกสายชุกชุมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะหยุดออกทำประมงช่วงมรสุมราคาหมึกสายริมทะเลกิโลกรัมละ 70-80 บาท เมนูเด็ด"หมึกสายลวกหรือย่าง น้ำจิ้มซีฟู๊ด"       

             มูสาให้ข้อมูลทิ้งท้ายไว้อย่างภูมิใจว่า อาชีพประมงหาเงินง่าย แถมมีเวลาได้พูดคุยกับชาวประมงด้วยกันตามวงน้ำชา กาแฟในหมู่บ้าน มีเวลาพักผ่อนมากมายเพราะใช้เวลาทำประมงเพียง 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น มูสาบอกว่าตนยังจมไซปลาจำนวน 3 ลูกค้างคืนไว้ 2-3 คืนยกขึ้นมา1ครั้ง วันนี้มูสา ลองยกไซขึ้นมา1ลูกติดปลานำไปขายแม่ค้าในหมู่บ้านได้เงิน300บาทประมงหาเงินง่ายจริงๆดังที่มูสาพูด สัตว์น้ำสมบูรณ์ที่ทะเลบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ     

จังหวัดสงขลา                                                                                                     

                                                                                                         เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

" การจับปูม้า "

13.jpg

          วันนี้มารู้จักการจับปูม้าในทะเลอ่าวไทยของประมงพื้นบ้าน หมู่ 1 บ้านทะเลนอก ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
           การจับปูม้าโดยอวน อวนปูม้ามีลักษณะขนาดตาอวน 11-12 เซนติเมตร จะติดปูที่มีขนาดเหมาะสม ปูตัวเล็กจะไม่ติดขึ้นมา เพราะขนาดเนื้ออวน มีความกว้างลูกปูสามารถลอดหลุดได้ ความยาวของอวนต่อผืน 150 เมตร บ้านทะเลนอกมีเรือจำนวน 5-7ลำที่ใช้อวนปูม้า ซึ่งเรือลำหนึ่งๆจะมีมากกว่า 1 ผืน จุดวางอวนชาวประมงออกจากชายฝั่งออกไป 5-10 ไมล์ทะเล ( 1ไมล์เท่ากับ 1.8 กม.) ระดับน้ำมีความลึก 15-17 เมตร
          สำหรับการดักเนื้ออวนต้องติดพื้นทะเล เพราะปูม้าอาศัยหากินติดพื้นทะเล ช่วงระยะการออกวางปูม้าจะเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคลื่นลม เมื่อวางอวนเสร็จแล้วก็จะกลับเข้าฝั่ง โดยจะต้องจมอวนไว้ 2-3 วัน แล้วชาวประมงถึงจะออกไปกู้อวนนำปูม้าขึ้นมา
         ปูม้าจะจับได้ตลอดปี แต่มีความชุกชุมมากช่วงหน้ามรสุม ประมาณเดือน ตุลาคม-มกราคม "บังหมี" ชาวประมงบ้านทะเลนอกบอกว่า ในชนิดเครื่องมือการจับสัตว์น้ำ อวนปูม้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีอายุการใช้งานระยะสั้นมาก กล่าวคือ เนื้ออวนจะโดนก้าม ขาปูพันเกี่ยวจนขาดชำรุด หากติดปูจำนวนมากก็ขาดชำรุดมาก ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้
         ดังนั้น อวนผืนหนึ่งๆจะนำไปดักจับปูม้าได้้ไม่่เกิน 3-4 ครั้้ง ก็ต้องซื้ออวนใหม่ แต่ปูม้าถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภค ราคาปูม้า กิโลกรัมละ 300-450 บาท (ปูขนาดกลาง 5-7 ตัว/กก.และปูขนาดใหญ่ 3-4 ตัว/กก.) แต่ในช่วงเทศกาลราคาจะสูงขึ้นมากกว่าปกติ
         การสังเกตลักษณะในการเลือกซื้อปูม้า การจับประมาณน้ำหนักตัว จะสามารถประมาณได้ว่าปูตัวนั้นๆจะมีเนื้อแน่น หรือมีไข่ คือ ปูตัวผู้มีลักษณะ2ก้ามใหญ่ และอีกวิธีหนึ่งถ้าหงายท้องปูตัวผู้ใต้ท้องเป็นรูป3เหลี่ยมทรงเจดีย์ยาวเรียวกว่าปูตัวเมีย

                                                                                                         เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

" บ้านทะเลนอก "

8.jpg

         ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่1ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีเรือจำนวน500กว่าลำ ทั้งเรือหัวสิงห์ เรือมาดและเรือไฟเบอร์ โดยมีการใช้เครื่องมือประมงจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล เช่น อวนปลาทู อวนกุ้ง อวนปลาอินทรี หรืออวนปู อวนปลาหมึกกระดอง เป็นต้น
         ในส่วนประเภทปลาทู ปลาแดง และปลาตาโตจะใช้อวนชนิดเดียวกันปลาเหล่านี้จับได้ตลอดปี และช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนจะมีปลาดังกล่าวชุกชุมเป็นจำนวนมาก

         ส่วนการวางอวนปลาอินทรีจะต้องเป็นคืนเดือนมืด เพราะปลาจะติดเพราะมันไม่เห็นเนื้ออวนนั่นเอง ปลาที่จับโดยประมงพื้นบ้านทะเลนอก จะมีความสด ปลอดการแช่สารฟอร์มาลีน เพราะช่วงการออกทำประมงไม่ได้ค้างอยู่ในทะเลหลายวัน เช่น การจับปลาทู จะต้องออกทะเลในช่วงเวลา 18.00 น.และกลับเข้าฝั่งในช่วงเวลา09.00 - 12.00 น. ทั้งนี้ช่วงเวลาการออกทำการประมงนั้น จะไม่แน่นอน เพราะจะขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลของสัตว์น้ำแต่ละชนิดนั้นๆด้วย
                                                                                                           เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

" การเลี้ยงปลาเก๋าในกระชัง "

9.png

         ปัจจุบันปลาเก๋าราคาดีเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภค แม่ค้าคนกลางเข้ามารับซื้อส่งไปต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย "ทองส้อง แสงมณีประดับ" เป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงปลาเก๋าอันดับต้นๆ ของบ้านทะเลนอก บ่งบอกว่าสมัยก่อน เมื่อย้อนไปประมาณ 40 ปี ปลาเก๋าตามธรรมชาติมีชุกชุมทะเลหน้าบ้าน แต่ไม่มีราคาและไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีใครนิยมกินกัน
ซึ่งการเลี้ยงปลาเก๋าในปัจจุบัน ต้องอาศัยทั้งเงินทุนซื้ออาหารกับลูกปลาเก๋า และภูมิปัญญา การไปดักจับลูกปลาเก๋าในทะเล เพื่อลดต้นทุน
         โดยน้าทอง (ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่) กล่าวว่าตนใช้ไซไปดักจับลูกปลาเก๋าในทะเลห่างจากฝั่งไปประมาณ 1 กิโลเมตร จมไซไว้ 1-3 วัน จึงจะไปกู้ไซขึ้นมา ปลาเก๋าชุกชุมช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม บางครั้งติดไซมากถึง70-80 ตัวด้วยลูกปลาเก๋าในปัจจุบันมีราคาสูงกล่าวคือ ขนาด 4-5 นิ้ว ตกอยู่ที่ตัวละ 15 บาท ขนาด 8-10 นิ้ว ตัวละ 40 บาท กระชังขนาด 4x4 เมตร ใส่ลูกปลาเก๋าไม่เกิน 300 ตัว ปลาเป็ดที่ทำเป็นเหยื่อลูกปลาเก๋า กิโลกรัมละ 13 บาท อายุการเลี้ยงปลาเก๋า 1ปีกว่าๆ สามารถจับขายได้ ขนาดปลาเก๋าเป็นที่ต้องการของตลาด คือ ขนาดตัวที่มีน้ำหนัก 8 กรัมถึง 1.2 กิโลกรัม ราคาก่อนไม่มีโควิด 19 กิโลกรัมละ 240-250 บาท ราคาเกิดโควิด 19 กิโลกรัมละ 180-200 บาท
        ซึ่งปัจจุบันปลาเก๋ามีทั้งแบบเลี้ยงในกระชัง และอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในทะเล ราคาก็จะแตกต่างกันไป ประมงพื้นบ้านสร้างอาชีพ มีรายได้ ควบคู่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลสืบไปในอนาคต
                                                                                                         เรื่องโดย Jumrat Wangmanee

“การใช้อวนจับปลาหมึกกระดอง”

10.png

         “บังหมี” นายดลหะหรีม บินหมาน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร บอกว่าตนมีเครื่องมือประมงจับสัตว์น้ำหลายประเภท เช่น อวนปลาทู อวนกุ้งแชบ๊วย อวนปลาจะละเม็ด และอวนปลาหมึกกระดอง ซึ่งจะทำการออกทะเลจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล เช่น ฤดูปลาทูก็ใช้อวนปลาทู หรือฤดูกุ้งแชบ๊วยก็ใช้อวนกุ้ง
         วันนี้มารู้จักการจับปลาหมึกกระดอง ด้วยอวน (อวนจม) ขนาดตาอวน 7-9 เซนติเมตร บังหมีบอกว่า ตนมีอวนปลาหมึกอยู่จำนวน 60 ผืน ลักษณะอวนแต่ละผืนมีความยาวประมาณ 80 เมตร มีความลึกประมาณ 3 เมตร ราคาอวนที่ซื้อพร้อมใช้งานราคาผืนละ 1,200 บาท เครื่องมือประมงเมื่อทำการออกวางอวนปลาหมึกกระดองแต่ละครั้ง ประกอบด้วยเรือท้ายตัด ความยาว 8-10 เมตร ความกว้าง 1.90-2 เมตร ใช้เครื่องยนต์ยันม่า 11 แรงม้า ใช้แรงงาน 2-4 คน
โดยแบ่งช่วงเวลาการออกทำประมงฤดูกาลปลาหมึกกระดอง ออกเป็น 2 ช่วง คือ
   ช่วงที่ 1 ออกจากฝั่งช่วงเช้าเวลาประมาณ 05.00 น.(เป็นช่วงเดือนมืด) ห่างจากฝั่งประมาณ 4-6 ไมล์ทะเล (1 ไมล์ = 1.852 กิโลเมตร) ใช้เวลาในการแล่นเรือไปถึงจุดวางอวนประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาในการวางอวนประมาณ 1 ชั่วโมงให้อวนจมแช่น้ำทะเลไว้3-4ชั่วโมง แล้วทำการทยอยกู้อวนขึ้นมาแต่ละผืนจนหมด เสร็จจะแล่นเข้าฝั่งช่วงเวลา 15.00-18-00 น. ความช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่าอวนจะติดปลาหมึกมากน้อย ถ้าติดปลาหมึกมากวันนั้นก็จะเข้าฝั่งช้า
   ช่วงที่ 2 ออกวางอวนช่วงเวลา 15.00 น. เป็นช่วงเดือนสว่าง วางอวนเสร็จกลับเข้าฝั่ง เช้าตรู่ค่อยออกไปกู้อวนขึ้นมาจากทะเลแล้วกลับเข้าฝั่งช่วงเวลาประมาณ 11.00-12.00 น. บังหมีบอกว่าฤดูกาลจับปลาหมึกกระดองชุกชุมมากช่วงเดือน กุมภาพันธ์- เมษายน แต่ต้องออกจากฝั่ง่ไปประมาณ6-8 ไมล์ทะเล ระดับน้ำลึกสุด 16 เมตร ส่วนราคาปลาหมึกกระดอง(ริมทะเล)กิโลกรัมละ 80-100 บาท
        บังหมี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ปัจจุบันสัตว์น้ำลดลงมาก พวกตนซึ่งเป็นประมงพื้นบ้านต้องร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำซั้งกอ (บ้านปลา) ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ หรือทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชาวประมงมีอาชีพ มีรายได้" โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เข้ามาหนุนเสริมกิจกรรมดังกล่าว เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย กรมประมง หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

                                                                                                        เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

เครื่องมือประมงอวนปลาอินทรี

18.jpg

        "บังโหมด" 1ในทีมวิจัยฟื้นฟูฯชายฝั่ง วันนี้เรามารู้จักเครื่องมือประมงอวนปลาอินทรีกันครับ ลักษณะอวนลอยปลาอินทรีขนาดตาอวน 9เซนติเมตร ความยาว 50 เมตร ความลึก 6 เมตร ราคาผืนละ 2,000-2,200 บาท บังโหมดบอกว่าต้องใช้ลูกเรือ1-2 คนออกช่วงเดือนมืดไปวางอวนห่างจากฝั่ง 10ไมล์ขึ้นไป (1ไมล์=1.8กิโลเมตร) ระดับน้ำลึก 10-20 เมตร ออกจากฝั่งตั้งแต่เวลา 16.00 น. ใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมง ไปถึงจุดวางอวนแช่จมไว้ในทะเลประมาณ 4 ชั่วโมง ยกอวน1ครั้งนำอวนขึ้นมาว่าติดปลาไหม หากจุดนั้นมีปลาชุมก็จะนำอวนจมในทะเลต่อ แต่หากจุดนั้นไม่มีปลาก็จะย้ายจุดวางอวน ปัจจุบันปลาอินทรีเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
        อวนปลาอินทรีติดปลาขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 1.5 – 8 กิโลกรัม และจะมีปลาชนิดอื่นๆติดมาด้วยเช่น ปลาสาก ปลาโทง ปลากุเรา ตอนต่อไปรู้จักอวนปลาทูกัน

                                                                                                        เรื่องโดย : Jumrat Wangmanee

ฤดูกาลปลาอินทรีช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม

ประมงพื้นบ้านทะเลนอก

ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

บ้านทะเลนอก.png

          เชื่อไหมครับว่าทะเลไทยยังสมบูรณ์ ฤดูกาลปลาอินทรีช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ประมงพื้นบ้านทะเลนอก ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ออกวางอวนปลาอินทรี ตั้งแต่เวลา 16.00 น. กลับเข้าฝั่งเช้าตรู่ของอีกวัน บางวันได้ปลาอินทรีน้ำหนักร่วม 100-200 กิโลกรัม มีรายได้ร่วม20,000-30,000 บาท ขนาดตาอวน 9เซนติเมตรไม่ได้ติดแค่ปลาอินทรีแต่ติดปลาอื่นๆมาด้วย เช่น ปลาโฉมงาม ปลาดาบ ประมงพื้นบ้านจับปลาตัวโตๆปลาอินทรีส่วนใหญ่น้ำหนักปลาตัวละ2กิโลกรัมขึ้นไป จับปลาอย่างรับผิดรับชอบฯประมงพื้นบ้าน ประมงยั่งยืน

 

Cr.อัปดุลเหล๊าะ นิยมเดชา

bottom of page